วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ข้อสอบวิชา การจัดการนวัตกรรมและสารสนเทศ

1.ท่านสามารถประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศในองค์กรของท่านได้อย่างไรบอกกรอบความคิด ขั้นตอน ผลกระทบให้เห็นกระบวนการคิดของท่านทั้งระบบ

ตอบ ในองค์กรของข้าพเจ้า ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นอาจารย์ผู้สอนการที่จะนำระบบสารสนเทศมาประยุกต์ใช้เพื่อการเรียนการสอน เพิ่มประสิทธิภาพคือ จัดให้มี ศูนย์ข้อมูลสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาผู้เรียนให้มีการเรียนการสอนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จัดให้มีห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ จัดทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง นำไปสู่สังคมแห่งคุณธรรม และสังคมแห่งการเรียนการรู้
ในองค์กรสามารถนำระบบสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในหน่วยงานต่าง ๆ คือ งานบุคลากร งานงบประมาณ งานธุรการ งานการเงินและบัญชี งานวิชาการ โดยมีกรอบความคิด ขั้นตอนและผลกระทบ ดังนี้กรอบความคิด

1. งานบุคลากร มีการจัดทำข้อมูลประวัติของครู ลูกจ้างประจำ คนงานทั่วไป ทำให้ทราบถึงสถิติของบุคลากรในแต่ละปี จำนวนบุคลากรตามแต่ละประเภทและหน่วยงาน เป็นต้น
2. งานงบประมาณ มีการนำระบบสารสนเทศมาใช้เพื่อประกอบการวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กร ทำให้ทราบถึงภาพรวมงบประมาณ เปรียบเทียบงบประมาณใช้ไปแต่ละปี สรุปจำนวนโครงการและกิจกรรม ติดตามแผนการดำเนินงาน
3. งานธุรการ เมื่อนำระบบสารสนเทศมาใช้ในงานธุรการ สามารถจัดทำเอกสารต่าง ๆและการควบคุมทรัพย์สินและพัสดุครุภัณฑ์แต่ละประเภทที่ได้มาง่ายต่อการตรวจสอบ เช่น สรุปจำนวนการสั่งซื้อ รายงานจำนวนพัสดุครุภัณฑ์คงเหลือแต่ละประเภท และมีการรับส่งหนังสือผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตกับสำนักงาน
4. งานการเงินและบัญชี สามารถนำระบบสารสนเทศมาใช้เพื่อให้ทราบถึง รายรับรายจ่ายและการเปรียบเทียบแต่ละปี งบการเงินและการเปรียบเทียบแต่ละปี
5. งานวิชาการ นำระบบสารสนเทศมาจัดทำฐานข้อมูลของนักเรียน ในด้านจำนวนนักเรียนใหม่ประจำปีการศึกษา จำนวนนักเรียนทั้งหมด จำนวนนักเรียนที่ชำระเงินและค้างชำระ งานทะเบียนวัดผลนักเรียนที่สำเร็จการศึกษา เปรียบเทียบจำนวนนักเรียนแต่ละชั้นและแต่ละปีการศึกษา

ขั้นตอน

1. ประชุมคณะกรรมการของโรงเรียน เพื่อชี้แจงขอความเห็นชอบและร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ในการนำระบบสารสนเทศมาใช้ในการบริหารวิทยาลัย
2. ประชุมครูและบุคลากรเพื่อชี้แจงให้ทราบถึงนโยบายและความสำคัญของการใช้ระบบสารสนเทศในการบริหารงานขององกรค์ในงานด้านต่าง ๆ
3. จัดทำแผนการใช้ระบบสารสนเทศในงานด้านต่าง ๆ เพื่อให้ทราบง่างานด้านใดจะใช้ระบบสารสนเทศแบบไหน เพื่อจะได้ทราบว่าในงานแต่ละด้านสามารถใช้ฐานข้อมูลเดียวกันได้บ้างหรือไม่ เพื่อลดการซ้ำซ้อนของการทำงาน
4. ออกแบบและจัดทำฐานข้อมูลของงานแต่ละด้านให้ครอบคลุมความต้องการของผู้ใช้ข้อมูล
5. จัดให้มีการอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการใช้ระบบสารสนเทศของแต่ละหน่วยงาน
6. ทดสอบและลองใช้ระบบ เพื่อนำข้อบกพร่องไปปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นผลกระทบจากกรอบความคิดและขั้นตอน จะเห็นได้ว่าระบบสารสนเทศสามารถนำมาใช้ในการบริหารจัดการงานด้านต่างๆ ของวิทยาลัย เพื่อความเป็นระเบียบในการจัดเก็บข้อมูล เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการค้นหาและประมวลผล เพื่อนำมาใช้ในการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายได้รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ในแต่ละหน่วยงานที่ใช้ระบบสารสนเทศไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ภาครัฐ หรือองกรค์ต่าง ๆ จะมีการทำงานซ้ำซ้อนกันหลายฝ่าย โดยในแต่ละฝ่ายมีการจัดทำฐานข้อมูลเป็นฝ่าย ๆ ไปไม่มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลพื้นฐานเข้าด้วยกัน เช่น ฐานข้อมูลชื่อ ที่อยู่ เพื่อลดการเก็บและกรอกข้อมูลที่ซ้ำซ้อน ควรมีการจัดทำฐานข้อมูลส่วนกลางเพื่อใช้ร่วมกัน จะเกิดประโยชน์และลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานลงไปได้มาก และต้องมีการอบรมเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านระบบสารสนเทศเป็นประจำเพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น

2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการจัดทำแผนแม่บทด้านไอซีที (ICT) ฉบับที่ 2 ของรัฐบาลไทยจงสังเคราะห์ความรู้จากแผนแม่บทมาเป็นอรรถาธิบายให้แจ้งชัด

ตอบ เห็นด้วย กับแผนแม่บทด้าน ICT ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2552 – 2556) ของรัฐบาลไทย
แผนแม่บทด้าน ICT ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2552 – 2556) ของรัฐบาลไทย จะเป็นการเปิดประตูสู่โลกยุคใหม่ที่ไร้พรมแดน ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน การจัดสรรงบประมาณได้ตรงตามความต้องการของประชาชน ลดช่องว่างในการรับรู้ข่าวสาร การศึกษา ของประชาชน เพิ่มศักยภาพและช่องทางใหม่ ๆ ในการแข่งขันทางธุรกิจทั้งในอุตสาหกรรมทุกขนาดในอีก 5 ปีข้างหน้าทิศทางการพัฒนา ICT ของประเทศไทยจะไปทางใด อย่างไร รัฐบาลและกระทรวง ICT ต้องคำนึงถึงมาก ๆ คือ มีวิธีไหนที่แผนแม่บท ICT จะถูกนำไปใช้อย่างจริงจัง

ซึ่งมีวิสัยทัศน์หลัก คือ การมุ่งสร้างประเทศไทยให้เป็นสังคมอุดมปัญญา เป็นแผนที่มีความตั้งใจและมีเป้าหมายที่ดี โดยเปลี่ยนความสนใจจากการมุ่งสร้างและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานทางเทคโนโลยีด้าน ICT พื้นฐานของประเทศมาเป็นการมุ่งให้ความสำคัญมากขึ้นกับการใช้งาน ICTอย่างมีธรรมาภิบาล มีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารอย่างชาญฉลาด ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจกิจพอเพียง ประชาชนทุกระดับมีความรอบรู้สามารถเข้าถึงและใช้สารสนเทศอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม มีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
ข้าพเจ้าเห็นว่า ร่างแผนแม่บททางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารฉบับที่ 2 ของประเทศไทย เพื่อประกาศใช้ระหว่าง

พ.ศ. 2552 – 2556 ซึ่งมีวิสัยทัศน์หลักคือ การมุ่งสร้างประเทศไทยให้เป็นสังคมอุดมปัญญา เป็นแผนที่มีความตั้งใจและมีเป้าหมายที่ดี โดยเปลี่ยนความสนใจ จากการมุ่งสร้างและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานทางเทคโนโลยีด้าน ICT พื้นฐานของประเทศ มาเป็นการมุ่งให้ความสำคัญมากขึ้นกับการใช้งาน ICT อย่างมีธรรมภิบาล
อย่างไรก็ดีข้าพเจ้าเห็นว่า ร่างแผนแม่บทดังกล่าว ซึ่งต้องใช้เวลาและผ่านหลายขั้นตอนในช่วงของการพัฒนาแผน เกิดปัญหาการตกหล่นและความไม่สอดคล้อง ระหว่างความตั้งใจในตอนต้น(วิสัยทัศน์) กับผลลัพธ์ในบั้นปลาย(เป้าหมายทางยุทธศาสตร์) ดังที่ได้ชี้ให้เห็นในประเด็น
ปัญหาที่ 1
นอกจากนี้ ดังที่ได้ชี้ให้เห็นในประเด็นปัญหาที่ 2 ข้าพเจ้ามีความห่วงใยเกี่ยวกับแนวทางการวัดผลภายใต้ร่างแผนแม่บทนี้ เนื่องจากเป้าหมายการดำเนินการส่วนใหญ่ มีแนวโน้มของการมีมิติทางสังคมมากขึ้น ซึ่งต้องการการวัดผลเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ เพื่อสะท้อนความสอดคล้องระหว่างผลการดำเนินการกับเป้าหมาย อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การวัดผลการดำเนินการส่วนใหญ่ภายใต้ร่างดังกล่าว ยังมีแนวโน้มการวัดผลในเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ
ประเด็นปัญหาข้างต้น เป็นประเด็นที่พบเห็นได้บ่อยครั้งในการจัดทำนโยบายของภาครัฐ ซึ่งต้องใช้เวลานานและมีความเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย การทบทวนใน 2 ประเด็นปัญหาข้างต้น ย่อมจักทำให้เกิดความสอดคล้องตลอดการดำเนินการนามแผน และทำให้การวัดผลสะท้อนภาพความสำเร็จที่แท้จริง ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของแผนการดำเนินการดีๆ ฉบับนี้ได้อย่างแน่นอน
จากประเด็นยุทธศาสตร์ ของแผนแม่บทด้านไอซีที (ICT) ฉบับที่ 2 พบว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาและยกระดับความสามารถด้าน ICT เพื่อแข่งขันกับโลกที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนากำลังคนด้าน ICTและบุคคลทั่วไปให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์ ผลิต และใช้สารสนเทศอย่างมีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน คือ
- มีการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งในส่วนภาคการศึกษา และบุคลากรในสาขาวิชาชีพอื่นๆ รวมไปจนถึงการสร้างความเสมอภาค ในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้ประชากรทุกส่วนในสังคม

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การบริหารจัดการระบบ ICT ระดับชาติอย่างมีธรรมาภิบาล (National ICT Governance) คือ
- มีการจัดให้มีหน่วยงานกลางในการผลักดัน และขับเคลื่อนแผนแม่บทไปสู่การปฏิบัติ มีการนำระบบ ICT มาใช้ในกระบวนการบริหารงานงบประมาณ ทั้งในด้านการจัดทำ เสนองบประมาณ และกระบวนการพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการบังคับใช้เพื่อให้เอื้อต่อการใช้ ICT และการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คือ
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศและการสื่อสารให้กระจายไปสู่ประชาชนทั่วประเทศ เพื่อการเข้าถึงเครือข่ายและเพิ่มประสิทธิภาพในการยกระดับการศึกษาและการเรียนรู้ของประชาชนตลอดชีวิต

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อสนับสนุนการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารและการบริการของภาครัฐ (e-Governance) คือ
- มีการกำหนดกรอบนโยบายที่เกี่ยวกับข้อมูลและการสื่อสารข้อมูล และกำหนดมาตรฐานที่จำเป็นให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้เกิดประโยชน์ในการทำงาน และลดกระบวนการทำงานที่ซ้ำซ้อนของเจ้าหน้าที่

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม ICT เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและรายได้เข้าประเทศ คือ
- เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ICT โดยเน้นงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน รวมทั้งการสนับสนุนด้านเงินทุน มาตรฐานสินค้าและบริการ ตลอดจนการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม ICTทั้งภายในประเทศและจากต่างประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 6 การใช้ ICT เพื่อสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน คือ
- ส่งเสริมภาคการผลิตให้มีความสามารถยกระดับการนำ ICT มาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมการนำ ICT มาใช้ในภาคการผลิตและบริการโดยเฉพาะภาคการเกษตร การบริการด้านสุขภาพและการท่องเที่ยว ยกระดับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชนให้เข้าถึงและนำ ICT มาใช้ในการทำธุรกิจเพื่อเปิดการค้าสู่ตลาดบนโลกที่ไร้พรมแดน

3.ท่านเห็นด้วยหรือไม่เกี่ยวกับการใช้กระบวนการทางกฎหมาย (กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550)เพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมในสังคมจากการใช้คอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด จงอภิปรายถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องให้เห็นเป็นรูปธรรม

ตอบ เห็นด้วย นั่นก็เพราะว่าทุกวันนี้คอมพิวเตอร์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรามากยิ่งขึ้น ซึ่งมีการใช้งานคอมพิวเตอร์โดยมิชอบโดยบุคคลใดๆ ก็ตามที่ส่งผลเสียต่อบุคคลอื่น รวมไปถึงการใช้งานคอมพิวเตอร์ในการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือมีลักษณะลามกอนาจาร จึงควรต้องมีมาตรการขึ้นมาเพื่อเป็นการควบคุมนั่นเอง นับได้ว่าเป็นที่จับตามองและมีความสำคัญอย่างมากในทุกวงการ เพราะปัจจุบันคอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ภาครัฐ เอกชน คนทำงาน นิสิต นักศึกษา ก็ล้วนเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ทั้งสิ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจเกี่ยวกับพ.ร.บ.ฉบับนี้ และเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ และให้การใช้งานคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยของเราเป็นไปในทางที่สร้างสรรค์
เราต้องไม่ลืมว่า ในขณะนี้ มีมนุษย์ที่อยู่ในโลกกออนไลน์จำนวนมาก หากพิจารณาจากประชากรที่เข้าใช้อินเทอร์เน็ตจากทั่วโลกกว่า ๑ พันล้านคน นั่นหมายความว่า เรากำลังเผชิญกับจำนวนของบุคคลบนอินเทอร์เน็ตจำนวนมากมาย ประกอบกับรูปแบบของการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีวิธีการหลากหลายมากขึ้น กระบวนการไล่จับแบบตำรวจไล่จับขโมยนั้น เป็นสิ่งจำเป็นที่ยืนบนความยากมากขึ้น
กฎหมายฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่บังคับกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์หลังจากเกิดการกระทำความผิดเกิดขึ้น และเพื่อให้เกิดผลการทำงานที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นที่จะต้องสร้างกฎหมายและนโยบายเพื่อสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้เพิ่มเติม โดยเฉพาะในส่วนของการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเผ้าระวังสื่อออนไลน์ และแจ้งเหตุไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
เพื่อลดปัญหาการด้านจำนวนและพฤติกรรมของการกระทำความผิด คงต้องเร่งสร้างกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมให้เกิดจริยธรรมที่ดีในการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งคงต้องรีบส่งสัญญาณไปยังกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงวัฒนธรรม ที่จะร่วมกันพัฒนากฎเกณฑ์และนโยบายเชิงรูปธรรมในการปลูกฝังจริยธรรมที่ดีในการใช้อินเทอร์เน็ต
เราคงต้องดำเนินการทั้งการจัดการปัญหาที่ต้นเหตุ คู่ขนานไปกับ การจัดการปัญหาที่ปลายเหตุไปพร้อมกัน
ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว เราคงได้เห็นผู้กระทำความผิดเต็มห้องขัง พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ได้ว่างเว้นจากการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ทั้ง เว็บไซต์ลามกอนาจาร การดูหมิ่น หมิ่นประมาท การใช้ เข้าถึงข้อมูล ระบบ เครือข่ายโดยมิชอบ ซึ่งจะเพิ่มรูปแบบและวิธีการที่ซับซ้อนมากขึ้น


วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ปลาทูแม่กลอง


มารู้จักกับปลาทูแม่กลอง
สุรจิต ชิรเวทย์
บุคลิกภาพของปลาทูแม่กลอง
คนทั้งประเทศรู้จัก “ปลาทูแม่กลอง” ในรูปของปลาทูนึ่งในเข่งเล็ก หน้างอ คอพับ เนื้อขุ่น มัน หอม และมีรสชาติความอร่อยอันโดดเด่น เป็นที่ยอมรับว่าเป็นสุดยอดปลาทูไทยหนึ่งเดียว เช่นเดียวกับของดีแม่กลองอื่น ๆ อาทิ ลิ้นจี่ พริก หมาก พลู และปลากัดจากบางช้าง น้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลสด ชมพู่สาแหรก ส้มโอขาวใหญ่ ฯลฯ
แม่ค้าขายปลาในทุกตลาดต่างก็ร้องบอกต่อลูกค้าของตนว่า “ปลาทูโป๊ะแม่กลอง” อันเป็นชื่อยี่ห้อ (BRAND NAME) ที่การันตีถึงคุณภาพและถิ่นกำเนิด โดยมิต้องการคำอธิบายประกอบ เหมือนเครื่องเบญจรงค์ “ปิ่นสุวรรณ” จากอัมพวา หรือสัญญลักษณ์ดาวสามแฉกของรถยนต์เมอร์ซิเดส เบ็นซ์ จาก เยอรมนี
ปลาทูแม่กลอง มิใช่สักแต่ว่าเป็นปลาทู ศักดิ์ศรีของปลาทูแม่กลองคือความอร่อย มิใช่ฉายาที่จะมาหลอกลวงกันได้ หรือเข้าถึงแก่นแท้โดยรสนิยมหรือความรู้อย่างผิวเผินในระดับแมวบ้าน มันย่อมมีเหตุปัจจัยมีที่มาที่ไป
ปลาทูแม่กลอง ที่คนไทยต่างถิ่นรู้จักและชื่นชมนั้น มิใช่เพราะบุคลิกภาพภายนอกที่เป็นปลาทูสั้น ท้องไม่แตก หากเป็นปลานึ่งก็อยู่ในเข่งเล็ก หน้างอ คอพับ และหากเป็นปลาทูสดตาจะดำสนิท ผิวพรรณสีสันสดใสแวววาว แต่นี่ก็เป็นแต่บุคลิกภาพภายนอก งามภายนอก ซึ่งก็ดีอยู่แต่ยังไม่เลิศ ความเลิศประเสริฐนั้น อยู่ที่ความดีงามภายใน คือ เนื้อขุ่นมัน หอม หวานด้วยตัวเอง

ธรรมชาติของอ่าวแม่กลอง
ปลาทูธรรมดาตัวหนึ่งจะกลายมาเป็นปลาทูแม่กลองได้ ก็ต่อเมื่อได้เข้ามาอยู่ในอ่าวแม่กลอง ภายในแนวน้ำชนระหว่างน้ำจืดจากปากน้ำแม่กลอง ที่พุ่งออกไปปะทะกับน้ำทะเลบริเวณก้นอ่าวในรัศมีประมาณ 25 กิโลเมตรจากชายฝั่ง ซึ่งมีความลึกเฉลี่ยไม่เกิน 15 เมตร เกิดเป็นระบบนิเวศน้ำกร่อย ปากแม่น้ำที่มีตะกอนเลน มีสารอาหาร คือ แพลงตอน ไรน้ำ อุดมในทุกอณูของหยดน้ำ ซึ่งระบบนิเวศสามน้ำหรือระบบนิเวศน้ำกร่อยนี้จะมีสารอาหารมาเติมความสมบูรณ์ให้ในช่วงน้ำหลากระหว่างเดือน 8 ถึงเดือน 11 แม่น้ำ แม่กลองเป็นแม่น้ำที่มีตะกอนมากกว่าแม่น้ำทุกสายในประเทศไทย ทำให้บริเวณปากแม่น้ำเกิดเป็นดินดอนชายฝั่งมากมาย รวมทั้งดอนหอยหลอดที่มีอยู่หนึ่งเดียว เป็นทำเลเป็นสภาพทางภูมิศาสตร์จำเพาะที่ ที่ไม่มีแห่งใดเสมอเหมือน
ปลาทู และสัตว์ทะเลทุกชนิดก้นอ่าวแม่กลอง จะเปล่งศักยภาพความอร่อยขึ้นตามลำดับ
ไม่ว่าปลา กุ้ง หอย ปู และเคยตาดำ จากปลายเดือนกันยายนไปจนสิ้นหนาวเข้าฤดูวางไข่ (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงปลาทูวางไข่) ปลาทูสั้นเหล่านี้มิใช่ทัวริสต์นักท่องเที่ยวหากถูกความสมบูรณ์ของอาหารที่ระบบนิเวศน้ำกร่อยปากแม่น้ำสร้างสรรค์ขึ้น ดึงดูดให้เข้ามาไม่ว่าปลาทูเล็กหรือใหญ่ เมื่อได้เข้ามาอาศัยในก้นอ่าวแม่กลองเป็นช่วงเวลาหนึ่งแล้ว ได้ธาตุอาหารที่สมบูรณ์สุดขีดในช่วงนี้แล้ว ปลาทูสั้นเหล่านั้นก็จะเปลี่ยนสภาพเนื้อที่ใสเป็นเส้นเป็นริ้ว ให้กลายเป็นเนื้อขุ่น มัน หอม และหวาน

วิธีการจับปลาที่ปราศจากความรุนแรง
จากนั้นเครื่องมือประมงประจำที่ ที่เรียกว่า “โป๊ะ” ที่บรรพชนชาวแม่กลองผู้เข้าใจธรรมะของน้ำและลม และสัญชาตญาณของปลา ผู้คำนวณทิศทางกระแสไหลของน้ำ สภาพพื้นก้นอ่าวว่าตรงไหนเป็นดอน ตรงไหนเป็นหล่ม แล้วทำการกำหนดตำแหน่ง (การโคนโป๊ะ) ที่จะวางแนวปีกโป๊ะ ทิศทางที่ปลาทูสาว และเต็มสาวทั้งหลายได้ว่ายเลาะปีกเข้ามาให้ชาวประมงจับโดยละม่อม มิใช่ละม่อมโดยตำรวจ ทำให้สามารถจับได้โดยไม่ผิดตัว และปราศจากความรุนแรงในการจับ ทำให้ปลาไม่เครียด เนื้อหวานไม่แปรเปลี่ยน
ด้วยเหตุปัจจัย อันมาประชุมกันโดยพร้อมเพรียงสามัคคีเช่นนี้ ปลาทูที่ได้เข้ามาพำนักอาศัยในอาณาบริเวณนี้ได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว จึงจะมีคุณสมบัติและรสชาติ และจึงจะใช้ชื่อและนามสกุลว่าเป็น “ปลาทูแม่กลอง” ได้ด้วยเหตุฉะนี้


วิธีการกินปลาทูแม่กลอง
แม้ว่าในเทศกาลหน้าหนาวทะเลจะมีคลื่นลมจัดขึ้นเพราะลมอุกาพัดจัด (ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ) ทำให้จับปลายากขึ้น และราคาปลาสูงขึ้น แต่เพื่อให้ท่านลิ้มรสปลาทูในช่วงที่อร่อยที่สุดเป็น บุญลิ้น จังหวัดและหอการค้าจึงจำต้องจัดงานเทศกาลกินปลาทูในฤดูนี้ของทุกปี และส่วนหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายในการจัดงาน ก็ต้องตั้งให้เป็นค่าใช้จ่ายในการบนบานต่อเสด็จเตี่ยกรมหลวงชุมพรและอาม้า อันเป็นพระบิดาและเทพเจ้าที่เคารพนับถือของชาวประมง ได้โปรดดลบันดาลให้คลื่นลมสงบลงบ้าง พอให้ชาวประมง เมืองแม่กลองได้ปันเนื้อปลามาจัดงานเทศกาลกินปลาทู เพื่อรักษาชื่อเสียงของปลาทูแม่กลอง และอาหารทะเลก้นอ่าวนี้ไว้ให้ลูกหลานได้ดำรงอาชีพนี้ไว้สืบไป เราต้องตั้งอกตั้งใจถึงเพียงนี้
จึงขอให้พากันเข้าใจ
และขอให้กินปลาทูแม่กลองในเทศกาลหน้าหนาวทั้งตัว ทั้งหัว ขอย้ำว่ากินทั้งตัวทั้งหัวไม่ใช่เฉพาะแต่ปลาทอด แม้ว่าเป็นปลาทูต้มก็ต้องรู้จักกินหัวด้วย โดยเคี้ยวหัวให้แหลกแล้วดูดซับความมันให้หมดจึงค่อยคาย นี่ก็คือต้องรู้ให้ครบถ้วน รู้จักจังหวะลีลาของธรรมชาติ รู้จักช่วงเวลาที่เหมาะสม รู้จักวิธีจับที่สอดคล้อง รู้จักวิธีปรุงโดยไม่ใส่เครื่องเครามากเกิน จนไปบดบังรสชาติที่แท้จริงของเนื้อปลา รู้จักวิธีการกินอย่างเข้าถึง ไม่ตกหล่น
กินอย่างรู้คุณค่า…
กินปลาทูแม่กลองให้แมวอาย…

ปลาทูแม่กลอง สุดยอดปลาทูเนื้อขุ่นมัน ทั้งปลาสดและปลานึ่ง ในเข่งงอหัว รสมันอร่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าหนาว ก่อนฤดูวางไข่
ปลาทูโป๊ะเป็นสุดยอดของความอร่อย เพราะวิธีการจับที่ปราศจากความรุนแรง ด้วยเครื่องมือประจำที่ ไม่ผ่านการดองน้ำแข็ง ปลาท้องไม่แตก ไม่กี่นาทีจากปากอ่าววิ่งเรือเข้ามาขายในฝั่ง